ในชาเขียวมีสาร polyphenols ที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิตามินซี 100 เท่า และวิตามินอี 25 เท่า นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วยสาร catechins วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดอะมิโน วิตามินซี วิตามินบี วิตามินอี และฟลูออไรด์ มีสรรพคุณป้องกันโรคมะเร็ง โดยลดภาวะเป็นพิษของสารก่อมะเร็งบางชนิด แทรกแซงกระบวนการเกาะยึดของสารก่อมะเร็งต่อ DNA ของเซลล์ปกติ ลดระดับไขมันในเลือด (ชาวญี่ปุ่นที่ดื่มชาเขียววันละ 9 ถ้วย สามารถลดระดับโคเลสเตอรอลได้เฉลี่ย 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยจำกัดการทำงานของเอนไซม์ amylase ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายได้ ลดน้ำหนักโดยช่วยเร่งให้ร่างกายมีการเผาผลาญอาหารและไขมันมากขึ้น รักษาสุขภาพช่องปากและช่วยป้องกันฟันผุโดยช่วยยับยั้งแบคทีเรียชื่อ Streptococcus mutans นอกจากนี้ยังนำชาเขียวมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ของใช้ชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ เกลืออาบน้ำ โลชั่น ครีม น้ำยาดับกลิ่นกาย ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และเครื่องสำอางต่ง ๆ ยังมีงานวิจัยโดยสกัดชาเขียวมาเป็นสารกันบูดสำหรับอาหารสด ผสมกับเส้นใยผ้าเป็น antimicrobial fiber สำหรับผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผสมในแผ่นใยกรองอากาศสำหรับเครื่องปรับอากาศ
อย่างไรก็ตาม การบริโภคชาเขียวอาจเกิดอาการข้างเคียงต่อไปนี้ได้ คือ อาการแพ้ บางคนอาจมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจติดขัด รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรติดคอ ริมฝีปาก ลิ้นและใบหน้าบวม หรือเป็นลมพิษ ซึ่งถ้ามีอาการแพ้รุนแรงให้หยุดบริโภคชาเขียว และไปพบแพทย์โดยทันที สำหรับผู้ที่บริโภคชาเขียวมากเกินไปเป็นระยะเวลานานอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งในหลอดอาหาร นอกจากนี้ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ควรบริโภคชาเขียวหรือควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนบริโภค ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นไต โรคต่อมธัยรอยด์ ผู้ที่กังวลง่ายหรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติหรือมีการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ หรือผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด
สารพันคำถามเรื่อง ยา สมุนไพร อาหาร เครื่องสาอาง