ยาลดความอ้วน



         ในปัจจุบันคนจำนวนหนึ่งนิยมใช้ยาลดความอ้วน  เพื่อช่วยในการควบคุมหรือลดน้ำหนักส่วนเกินของตนเอง  เพื่อให้มีรูปร่างอันพึงประสงค์  แต่คนเหล่านั้นหรือใครอีกหลาย ๆ คนรู้หรือไม่ว่ายาลดความอ้วนที่ใช้กันอยู่ทำงานและออกฤทธิ์อย่างไร บทความนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนครับว่า ยาลดความอ้วนมีรูปแบบอย่างไรบ้าง แต่ละแบบทำงานกันอย่างไรบ้าง  แบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ดังนี้

1.  ยาลดการอยากอาหาร

        ยากลุ่มนี้เมื่อรับประทานแล้วจะมีผลทำให้รู้สึกเบื่ออาหาร รับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็วขึ้น ดังนั้นเมื่อร่างกายรับอาหารน้อยลง และหากพลังงานที่ได้รับจากอาหารนี้น้อยกว่าพลังงานที่ร่างกายต้องการ  ร่างกายจะต้องหันมาใช้ไขมันสะสมเป็นพลังงานแทน  ก็เป็นผลให้น้ำหนักตัวลดลงได้  ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส บริเวณที่เป็นศูนย์ควบคุมการกินอาหาร และบางชนิดยังมีฤทธิ์เพิ่มกลูโคสในกล้ามเนื้อ ผลนี้จะเปรียบเสมือนกับการออกกำลังกายเบา ๆ ยู่ตลอดเวลา  ทำให้ร่างกายได้ใช้พลังงานมากขึ้น และยาบางชนิดยังมีฤทธิ์สลายไขมันและกรดไขมันอีกด้วย

2.  ยาขับน้ำหรือยาขับปัสสาวะ

        ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ขับน้ำออกจากร่างกาย ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมากขึ้น จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว นิยมใช้ในพวกนักมวยที่ต้องการรีดน้ำหนักให้เท่ากับพิกัดระยะเวลาสั้น ๆ โดยมากแพทย์จะใช้ยานี้ในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ เป็นต้น  ยาเหล่านี้หากใช้ในระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง กระหายน้ำ คอแห้ง เนื่องจากร่างกายสูงเสียเกลือแร่และน้ำไปทางปัสสาวะ แต่ยากลุ่มนี้บางชนิดเป็นยาขับปัสสาวะที่สามารถสงวนเกลือแร่บางอย่างโดยเฉพาะโปแตสเซียมได้  จึงทำให้อาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการขาดเกลือแร่ลดลง

3.  ฮอร์โมน

        โดยมากมักจะเป็น “ธัยรอยด์ฮอร์โมน” ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานมากขึ้น เมื่อพลังงานสะสมถูกใช้ไปมากขึ้น น้ำหนักตัวก็ลดลง แต่หากใช้ยาในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการใจสั่น เหงื่อออกมาก หรือมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษได้

4.  ยาระบาย หรือยาถ่าย

        ยากลุ่มนี้มีหลายชนิด  บางชนิดออกฤทธิ์กระตุ้นลำไส้ให้บีบตัว บางชนิดก็ทำให้อุจจาระอ่อนตัว หรือเพิ่มปริมาณอุจจาระทำให้ถ่ายมากหรือบ่อยขึ้น  ยาในกลุ่มนี้มีทั้งที่เป็นน้ำและเป็นเม็ด หลังจากรับประทานแล้วรู้สึกอยากถ่าย  และอุจจาระค่อนข้างเหลว เหมาะสำหรับคนที่ท้องผูกถ่ายยาก

5.  ยาลดกรด

        ยาลดกรดทำให้กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง  จึงทำให้ไม่รู้สึกหิว  แต่เป็นเพียงชั่วขณะเท่านั้น  ยาลดกรดจะมีสารประกอบที่เป็น “อะลูมีนัม” ซึ่งแพทย์มักจะใช้ยานี้เพื่อป้องกันหรือรักษาโรคกระเพาะอาหารอับเสบ และบรรเทาอาการปวดท้อง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานยานาน ๆ เช่น ท้องผูก หรือขาดสารอาหารบางอย่าง เนื่องจากยาลดกรดไปรบกวนการดูดซึมของสารอาหาร โดยเฉพาะ Fluoride และ Phosphate เป็นต้น

6.  สารสกัดจากใบพืช

        มักจะอยู่ในรูปอาหารสำเร็จรูป  ซึ่งปรุงแต่งให้มีพลังงานต่ำ ส่วนประกอบทั่ว ๆ คือ เส้นใยอาหาร สารอาหารอื่น ๆ คือคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน รวมทั้งเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ เพื่อนำไปรับประทานอาหารปกติ  เพื่อลดปริมาณพลังงานที่ได้จากอาหารได้น้อยลง เนื่องจากเมื่อรับประทานอาหารเข้าไปแล้วเส้นใยอาหารจะพองตัว  ทำให้เพิ่มปริมาณของอาหารในกระเพาะ  จึงทำให้รู้สึกไม่หิว  และทำให้รับประทานอาหารอื่นได้น้อยลง และอิ่มเร็วขึ้น  ปัจจุบันมีการปรุงแต่งอาหารเหล่านี้ทำให้น่ารับประทานมากขึ้น มีทั้งที่เป็นอาหารสำหรับชงดื่ม คุกกี้ ขนมเค้ก  ซึ่งแต่ละชนิดจะมีปริมาณแคลลอรี่แตกต่างกัน มักจะระบุไว้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์

Naipii

Phasellus facilisis convallis metus, ut imperdiet augue auctor nec. Duis at velit id augue lobortis porta. Sed varius, enim accumsan aliquam tincidunt, tortor urna vulputate quam, eget finibus urna est in augue.